ไผ่ตงลืมแล้งสวนไผ่อริยะ@ระยอง

วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การทำปุ๋ยหมักใช้เองเพื่อลดต้นทุน

ปุ๋ยแพงแต่ก็ต้องใช้แล้วจะทำยังไงกันดี



           ในการปลูกพืชต่างๆทุกคนคงหลีกเลี่ยงการให้ปุ๋ยแก่พืชที่เราปลูกไม่ได้แต่จะดีกว่าหรือเปล่าหากเราสามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยที่จะนำมาใช้ด้วยการทำเองแบบง่ายๆไม่ยุ่งยาก
วิธีการทำก็แสนง่ายดังรายระเอียดดังต่อไปนี้

1. การเตรียมสถานที่ 


           บริเวณที่จะตั้งกองปุ๋ยควรเป็นที่ๆ น้ำไม่ ท่วม แต่ก็อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ ที่จะนำมาใช้รดกองปุ๋ยพอสมควร และควรเป็นบริเวณ ที่สามารถขนย้ายเศษพืชมาใช้หมักได้ง่าย รวมทั้งเอาปุ๋ยที่หมักเสร็จแล้วไปใช้ได้สะดวก บริเวณที่จะกองปุ๋ยหมักให้ปรับให้เรียบไม่เป็นแอ่งให้น้ำขังได้


2. วัสดุที่ใช้


           - เศษพืช


           - มูลสัตว์


           - ปุ๋ยยูเรีย หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต




3. การตั้งกอง

       
           นำเศษวัสดุมากองบนพื้นดิน ขนาดของกอง กว้าง 2.5 เมตร สูง 1.2 เมตร ยาว 4 เมตร ถ้าต้องการหมักเศษพืชจำนวนมากกว่านี้ ก็อาจตั้งกองปุ๋ยให้ยาวขึ้น หรือตั้งเป็นกองใหม่อีกกองหนึ่ง การตั้งกองจะทำ เป็นชั้นๆ ระหว่างเศษพืชปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมี ดังนี้

           (1) ชั้นล่างสุด กองเศษพืชลงไปในขอบเขตกว้างยาวที่กำหนดไว้ กองให้สูงพอประมาณ กะว่าหลังจากรดน้ำแล้ว กองเศษพืชจะ หนาประมาณ 6-8 นิ้ว.

           (2) โรยมูลสัตว์ลงบนเศษพืชให้ทั่ว ใช้มูลสัตว์ประมาณ 1 บุ้งกี๋ ต่อ พื้นที่ 1-2 ตารางเมตร (ใช้มูลสัตว์ประมาณ 5-10 บุ้งกี๋ต่อชั้น)คลุกเคล้าให้มูลสัตว์ผสมเข้าไปในเศษพืช

           (3) รดน้ำให้ทั่ว ถ้าเศษพืชที่นำมากองเป็นเศษพืชแห้ง ไม่ค่อยเปียกน้ำ ต้องรดน้ำให้โชก เพื่อให้เศษพืชเปียกโดยทั่วถึงกัน แต่ถ้าเป็นเศษพืชสด ก็รดน้ำแค่พอให้เศษพืชเปียกชื้น

           (4) หว่านปุ๋ยเคมี
               - ถ้าใช้ปุ๋ยยูเรียให้ใช้ปุ๋ยประมาณ 1.5-2 กิโลกรัมต่อชั้น
               - ถ้าใช้ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ให้ไช้ปุ๋ยประมาณ 3-4 กก. ต่อชั้น

           (5) เริ่มต้นกองเศษพืชในชั้นที่ 2 โดยวิธีเดียวกันกับในชั้นที่ 1 คือ
               - กองเศษพืช
               - โรยมูลสัตว์
               - รดน้ำ จนเศษพืชเปียกชื้นโดยทั่วถึงกัน
               - หว่านปุ๋ยเคมี

           กองเศษพืชเป็นชั้นๆ เช่นนี้เรื่อยไป จนกระทั่งได้กอง ปุ๋ยสูงตามขนาดที่ต้องการคือ 1.20 เมตร ซึ่งจะมีจำนวนชั้นของ กองเศษพืชประมาณ 6-8 ชั้น ในชั้นสุดท้ายหลังจากโรยปุ๋ยเคมี แล้ว ต้องรดน้ำตาม เพื่อให้ปุ๋ยเคมีละลายเข้าไปในกองปุ๋ย

4. การปฏิบัติดูแล


           - รดน้ำ หมั่นตรวจตราคอยรดน้ำกองปุ๋ยอยู่เสมอ อย่าให้กองปุ๋ย แห้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 วัน หลังจากเริ่มตั้งกอง เศษพืชบางส่วนอาจจะยังค่อนข้างแห้ง อาจต้องรดน้ำให้เศษพืชเปียกชื้นอย่างทั่วถึงกัน เสียก่อน จากนั้น จึงค่อยตรวจตราเป็นระยะๆ แต่ก็ต้องระวังอย่ารดน้ำจนแฉะ เกินไป

           - การกลับกองปุ๋ย หลังจากตั้งกองปุ๋ยหมักแล้ว ต้องทำการกลับ กองปุ๋ยหมักอยู่เสมอ ยิ่งกลับกองบ่อยครั้งจะยิ่งเร่งให้เศษพืชแปรสภาพไปเป็นปุ๋ยหมักได้เร็วขึ้น อย่างน้อยที่สุดควรได้กลับกองปุ๋ยสัก 3-4 ครั้ง คือ ครั้งแรกเมื่อ ประมาณ 10 วัน หลังจากเริ่มตั้งกองปุ๋ย ครั้งที่สองก็ประมาณ 15 วัน หลังจาก กลับกองครั้งแรก ต่อไปก็กลับกองทุกๆ 20 วัน จนเศษพืชแปรสภาพไปเป็น ปุ๋ยหมักทั้งกอง

           - ถ้าฝนตกชุก ต้องระวังอย่าให้กองปุ๋ยเปียกแฉะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเศษพืชย่อยสลายไปมากแล้ว ควรพูนด้านบนของกองให้ไค้งนูนและหา วัสดุคลุมไว้บ้าง ไม่ให้น้ำฝนไหลเข้าในกองปุ๋ยมากเกินไป

5. การเก็บรักษา


           หลังจากหมักเศษพืชไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้ว ความร้อนภายในกองปุ๋ยจะค่อยๆ ลดลง เศษพืชก็เปื่อยยุ่ย สีคล้ำขึ้น เรื่อยๆ จนในที่สุดกองปุ๋ยก็เย็นตัวลง เศษพืชก็แปรสภาพไป กลายเป็นปุ๋ยหมัก ที่มีเนื้อปุ๋ยร่วนๆ เป็นขุย ยุ่ย นุ่มมือ สีน้ำตาลเข้ม ไม่มีกลิ่นเหม็น ระยะเวลาตั้งแต่ เริ่มตั้งกองจนถึงระยะที่กองปุ๋ยไม่ร้อนสามารถนำไปใช้ได้อย่างปลอดภัย นี้ ใช้เวลาประมาณสองเดือนครึ่ง ถึงสามเดือนครึ่งอาจเร็วหรือช้าไปกว่านี้ บ้าง ถ้ายังไม่นำปุ๋ยหมักนี้ไปใช้ทันที ควรเก็บรักษาไว้ไนที่ร่ม มีหลังคากันแดด กันฝนหรือหาวัสดุคลุมไว้ไม่ให้ถูกฝนชะ ควรรักษาให้กองปุ๋ยชื้นและอัดกองปุ๋ย ให้แน่น

           เพียงเท่านี้เราก้อจะได้ปุ๋ยมาใช้เองโดยมีต้นทุนที่น้อยลงกว่าเดิมมากเลยทีเดียวครับ ทำเรื่อยๆก้อจะมีปุ๋ยไว้ใช้ไปตลอดครับผม





ทนัญชัย อริยเกศมงคล
สวนไผ่อริยะ@ระยอง
Line : tapootom
Tel : 086-3572098
https://www.facebook.com/ariyabamboo
http://ไผ่ตงลืมแล้ง.blogspot.com
E-mail : tapoo.tom@gmail.com

วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สรรพคุณนานับประการจากไม้ไผ่

 พืชที่มีประโยชน์อย่างนี้มีด้วยหรือ



           ไม้ไผ่ เป็นไม้ที่ขึ้นง่ายและเติบโตเร็ว ขึ้นได้ดีในทุกสภาวะอากาศดำรงอยู่ได้ในพื้นดินทุกชนิด ที่สำคัญคือ ไผ่เป็นพันธุ์ไม้ที่อำนวยประโยชน์หลายประการ ทั้งประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม และเป็นพืชที่ลำต้นกิ่งมีลักษณะแปลกสวยงาม ไผ่เป็นไม้ที่ตายยาก ถ้าไผ่ออกดอกเมื่อใดจึงจะตาย แต่ก็ยากมากและนานมากที่ไผ่จะออกดอก ไม้ไผ่มีประโยชน์มากกับคนเราคนเราสามารถนำไม้ไผ่มาสร้างบ้านที่อยู่อาศัย  และทำเครื่องจักสานอื่นๆอีกมากมายสำหรับไม่ไผ่นั้นใช้ได้ทุกส่วนตั้งแต่ หน่อ ลำต้น ใบ ราก เยื่อไผ่ ขุยไผ่ มีประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน  ในปัจจุบันเราสามารถนำไม้ไผ่มาจักรสานทำเป็นอาชีพหารายได้ให้แก่ครอบครัว และยังเป็นงานที่เราส่งออกไปขายอยู่นอกประเทศสำหรับคนไทยเราแล้ว งานที่ใช้ฝีมือถือว่าเป็นงานที่ประณีตระเอียดและสวยงามมาก

ประโยชน์ของไม้ไผ่ 

1.  ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ
-   ป้องกันการพังทลายของดินตามริมฝั่ง
-   ช่วยเป็นแนวป้องกันลมพายุ
-   ชะลอความเร็วของกระแสน้ำป่าเมื่อฤดูน้ำหลากกันภาวะน้ำท่วมฉับพลัน
-   ให้ความร่มรื่น
-   ใช้ประดับสวน จัดแต่งเป็นมุมพักผ่อนหย่อนใจในบ้านเรือน

2.  ประโยชน์จากลักษณะทางฟิสิกส์
จากความแข็งแรง ความเหนียว การยืดหด ความโค้งงอ และการสปริงตัว ซึ่งเป็นคุณลักษณะประจำตัวของไม้ไผ่ เราสามารถนำมันมาใช้เป็นวัสดุเสริมในงานคอนกรีต และเป็นส่วนต่างๆ ของการสร้างที่อยู่อาศัยแบบประหยัดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

3.  ประโยชน์จากลักษณะทางเคมีของไม้ไผ่
- เนื้อไผ่ใช้บดเป็นเยื่อกระดาษ
- เส้นไยใช้ทำไหมเทียม
- เนื้อไผ่บางชนิดสามารถสกัดทำยารักษาโรคได้
- ใช้ในงานอุตสาหกรรมนานาชนิด

4  การใช้ไม้ไผ่ในผลิตภัณฑ์หัตถกรรม และอุสาหกรรม  แบ่งออกได้   ดังนี้        ผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากเส้นตอก ได้แก่ กระจาด  กระบุง  กระด้ง  กระเช้าผลไม้  ตะกร้าจ่ายตลาด  ชะลอม  ตะกร้าใส่ขยะ  กระเป๋าถือสตรี   เข่งใส่ขยะ  เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เช่น ข้องใส่ปลา  ลอบ  ไซ ฯลฯ
ผลิตภัณฑ์จากลำต้น และกิ่งของไม้ไผ่  ได้แก่  เก้าอี้  โต๊ะ  ชั้นวางหนังสือ  ทำด้ามไม้กวาด ไม้เท้า คันเบ็ด ราวตากผ้า โครงสร้างบ้านส่วนต่างๆ ทำแคร่ นั่งร้านก่อสร้าง  ท่อส่งน้ำ    รางน้ำ
ผลิตภัณฑ์จากเนื้อไม้ไผ่ ได้แก่  ถาดใส่ขนม   ทัพพีไม้    ตะเกียบ    ไม้เสียบอาหาร
 กรอบรูป  ไม้ก้านธูป ไม้พาย ไม้เกาหลัง เครื่องดนตรี พื้นบ้าน ไม้บรรทัด
        ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไผ่ซีกได้แก่  โครงโคมกระดาษ   โครงพัด  โครงร่ม  ลูกระนาด
 คันธนู  พื้นม้านั่ง  แผงตากปลา  สุ่มปลา  สุ่มไก่

5. ประโยชน์ทางด้านการบริโภค เช่น การนำหน่อไม้ไผ่มาทำเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นซุบ แกง ต้ม หรือนำมาดองจิ้มน้ำพริก


สรรพคุณของหน่อไม้



     * ลดการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ป้องกันอาการท้องผูก ช่วยย่อยอาหาร เป็นสรรพคุณที่เห็นผลมาก เพราะหน่อไม้เป็นอาหารที่ให้เส้นใยสูงจึงช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ เมื่อหน่อไม้ผ่านการย่อยร่างกายจะดูดซึมสารอหารเข้าสู่กระแสเลือด ส่วนกากอาหารที่เหลือหรือสารพิษต่างๆ เช่น ยาฆ่าแมลงหรือโลหะหนักจะไปรวมกันที่ลำไส้ใหญ่ แต่ถ้ามีกากใยอาหารมากๆ กากใยอาหารเหล่านี้จะช่วยดูดน้ำและเพิ่มปริมาณ ทำให้กากอาหารมีน้ำหนักมากจะเคลื่อนออกสู่โลกภายนอกได้เร็ว กากใยอาหารจึงช่วยลดการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่

     * แก้กระหาย ขับปัสสาวะ ละลายเสมหะ แก้ไอ บำรุงกำลังแก้อาการร้อนต่างๆ ได้ดี เพราะมีฤทธิ์เย็นเช่นเดียวกับเห็ด

     * ขับพิษใต้ผิวหนัง ขับผื่นหัดรวมถึงผื่นชนิดอื่นๆ เพียงดื่มน้ำแกงที่ได้จากการต้มหน่อไม้ร่วมกับปลาตะเพียน

     * แก้โรคบิดเรื้อรังได้

      นอกจากหน่อไม้สดจะมีคุณค่าทางอาหารสูงแล้ว ตัวหน่อไม้ดองเองแม้จะไม่มีคุณค่าทางอาหาร แต่ยังมีคุณค่าแฝงอยู่อีกคือ จะมีแบคทีเรียในหน่อไม้ดองที่ชื่อ คลอสทริเดีย เป็นแบคทีเรียที่ปนอยู่ในดิน เจริญเติบโตได้ดีในสภาวะไร้ออกซิเจน เช่น ในอาหารจำพวกของหมักดองทั้งหลายและรวมทั้งอาหารกระป๋องที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการทำลายแบคทีเรียอย่างถูกวิธี แบคทีเรียชนิดนี้มีพิษแต่มันก็มีประโยชน์ ซึ่งสำนักงานอาหารและยา หรือ FDA ของสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้นำแบคทีเรียนี้ไปผ่านกระบวนการแยกเอาสารพิษออกแล้วทำให้เจือจาง เพื่อนำไปใช้ในการบำบัดรักษาโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ โดยตั้งชื่อใหม่ว่า โบท็อก (Botox) (ซึ่งโบท็อกก็คือสารหน้าเด้งที่พวกดาราทั้งหลายไปฉีดเพื่อลดรอยเหี่ยวและย่นนั้นล่ะค่า)


ข้อควรระวังในการรับประทานหน่อไม้

     หน่อไม้มีคุณค่าทางอาหารสูงในตัวของมันเอง ส่วนหน่อไม้ดองก็มีคุณค่าแฝง แต่สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคบางชนิดแล้ว แพทย์เองก็ไม่แนะนำให้ทานเหมือนกัน

     ผู้ป่วยเป็นโรคเกาต์ ไม่ควรรับประทาน เพราะในหน่อไม้มีสารพิวรินสูง ซึ่งสารตัวนี้อาจจะทำให้กรดยูริกที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคเกาต์สูงขึ้น ซึ่งกรดยูริกเป็นสารที่เกิดจากการเผาผลาญของพิวรีน มีมากในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ถั่วต่างๆ และพืชผักอ่อนโดยเฉพาะหน่อไม้

     ผู้ที่มีภาวะไตเสื่อม โดยปกติกรดยูริกจะถูกขับออกทางปัสสาวะของคนเรา หากร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากเกินไปหรือไตขับยูริกได้น้อยลง เนื่องจากไตเสื่อมลง กรดยูริกก็จะตกผลึกตามข้อ ผนังหลอดเลือด ไต และอวัยวะต่างๆทำให้เกิดอาการปวดข้อและโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ เช่น ข้อพิการ นิ่วในไต กระดูกพรุน เป็นต้น



ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับหน่อไม้

      * คนไทยเรามักจะคิดว่าหน่อไม้มีแต่โทษเป็นของแสลง ถ้าไม่กินจะดีกว่า

      * กินหน่อไม้แล้วปวดข้อ จริงๆ แล้วตัวหน่อไม้เองนั้นไม่ได้ทำให้ข้อเสื่อมหรือปวดข้อ แต่จะมีผลกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์เท่านั้น ดังนั้นคนที่มีอาการปวดข้อจากสาเหตุอื่นๆ จึงกินหน่อไม้ได้ปกติ

      * คนเป็นเบาหวานห้ามกิน การกินหน่อไม้นั้นไม่ได้มีผลกับระดับน้ำตาลในกระแสเลือด เพราะฉะนั้นแม้เป็นเบาหวานก็รับประทานได้

      * ผู้ป่วยเป็นโรคตับห้ามรับประมาน ซึ่งโรคตับในที่นี้มีได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากไวรัสบีและอาการตับแข็ง แต่แพทย์ยืนยันว่าการรับประทานหน่อไม้ไม่มีผลต่อโรคดังกล่าว

      * เมื่อมีอาการตกขาวหรือระดูขาวให้งดกินหน่อไม้ จริงแล้วหน่อไม้หน่อไม้สดไม่มีผลกับอาการ แต่หากผู้ที่มีอาการตกขาวก็ยังสามารถรับประทานหน่อไม้สดได้

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ควรจะกินอย่างพอดี ของทุกอย่างมี 2 ด้าน หน่อไม้ก็เหมือนกัน
ผมหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะทำให้หลายๆท่านได้รู้ถึงสรรพคุณของไผ่ขึ้นอีกไม่มากก้อน้อยครับผม




ทนัญชัย อริยเกศมงคล
สวนไผ่อริยะ@ระยอง
Line : tapootom
Tel : 086-3572098
https://www.facebook.com/ariyabamboo
http://ไผ่ตงลืมแล้ง.blogspot.com
E-mail : tapoo.tom@gmail.com

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ไผ่ตงลืมแล้ง...ไผ่เงินล้านหากปลูกเป็น...


การปลูกไผ่ตงลืมแล้งเป็นอาชีพเสริมที่ดี 

         สำหรับผู้ที่มีเงินทุนแต่มีเวลาไม่มาก เพราะสามารถปลูกทิ้งได้ และต้นทุนไม่สูงถ้าสามารถรอเพาะพันธุ์ต้นอ่อนเองได้ และตลาดยังต้องการหน่อไผ่ตงลืมแล้งอยู่มาก เพราะรสชาติอร่อย ผู้บริโภคนิยมซื้อรับประทานมากกว่าหน่อไม้ชนิดอื่น และสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการตัดหน่อขายก็สามารถทำในลักษณะเพาะพันธุ์ไผ่ตงลืมแล้ง ขายได้ จากเงิน 40-65 บาทที่เสียไปกับต้นไผ่ตงลืมแล้ง 1 ต้น สามารถทำกำไรให้ผู้เพาะพันธุ์ไผ่ตงลืมแล้งได้ถึง 100 เท่า และการปลูกไผ่ตงลืมแล้งนี้ถือเป็นการลงทุนระยะสั้น เพราะในเวลาไม่ถึงปีท่านก็สามารถเก็บหน่อขายได้แล้ว




ไผ่ตงลืมแล้งสวนไผ่อริยะ @ระยอง
ไผ่ตงลืมแล้งสวนไผ่อริยะ @ระยอง


รู้จักกับไผ่ตงลืมแล้ง


           ไผ่ตงลืมแล้ง แต่เดิมเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศจีน เป็นไผ่ที่โตเร็วดูแลง่ายพอ ๆ กับพืชจำพวกยูคาลิปตัส ปลูกเพียง 6-8 เดือนก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ ไผ่ตงลืมแล้งเป็นไผ่กอใหญ่ หน่อมีขนาดใหญ่ ลำต้นอวบสูงถึง 25 เมตร ลำต้นมีสีเขียวเข้ม เติบโตได้กับทุกสภาพอากาศและดินทุกประเภท โตเร็วมา 6-8 เดือนก็สามารถเก็บหน่อไปขายได้แล้ว หน่อของไผ่ตงลืมแล้งมีรสชาติหวานกรอบอร่อย โดยส่วนมากนิยมเก็บหน่อขายมากกว่าทำประโยชน์อย่างอื่น หน่อที่เหมาะสมกับการเก็บขายต้องมีขนาดไม่เกิน 40 เซนติเมตร ไผ่ตงลืมแล้งนี้ไม่มีหนามและขนแข็ง ๆ จึงเก็บง่าย



ประโยชน์จากการปลูกไผ่ตงลืมแล้ง


           ประโยชน์ของการปลูกไผ่ในเนื้อลำต้นหนา เยื่อสีขาวในข้อปล้องหนา จึงเหมาะที่จะนำไปทำข้าวหลามได้ดีมาก ลำต้นยังแปรรูปทำเฟอร์นิเจอร์ และใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีกมากมายหน่อ มีขนาดใหญ่ น้ำหนักเฉลี่ยระหว่าง 4-5 กิโลกรัม ต่อ 1 หน่อ ปัจจุบันมีผู้ปลูกเก็บหน่อขายในช่วงฤดูกาลที่แทงหน่อตามธรรมชาติมีราคาอยู่ระหว่าง กิโลกรัมละ 20-40 บาท หากเป็นหน่อที่แทงขึ้นในช่วงฤดูแล้งจะมีราคาอีกระดับหนึ่ง


กอไผ่ตงลืมแล้งที่สวนไผ่อริยะปลูก
กอไผ่ตงลืมแล้งที่สวนไผ่อริยะปลูก

           รสชาติของหน่อจะออกหวานกรอบเจือขมและขื่นเล็กน้อย นิยมเอาไปปรุงเป็นอาหารหลากหลายรูปแบบ เช่น แกงจืด และแกงหน่อไม้ โดยก่อนปรุงเป็นอาหารต้องต้มกับน้ำเดือดเทน้ำทิ้งครั้งเดียวจะมีรสชาติหวานกรอบอร่อยมาก

           นอกจากนี้ไผ่ยังสามารถยึดดินไม่ให้พังทลายโดยง่าย และไผ่เป็นพืชที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่น จึงมีศักยภาพสูงในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และกักเก็บคาร์บอนไว้ในรูปของเนื้อไม้ ด้านชีวมวล 2-5 % ต่อปี ในขณะที่ป่าไผ่มีชีวมวลมีศักยภาพเพิ่มขึ้นถึง 30 % ต่อปี  ไผ่มีความได้เปรียบเหนือไม้โตเร็วในแง่ของความยั่งยืนและความสามารถในการตรึงคาร์บอนไดออกไซด์  ผลผลิตชีวมวลของป่าไผ่อายุ  6 ปีสูงถึง 150 ตันคาร์บอนต่อเฮกแตร์ เปรียบเทียบได้กับไม้สักอายุ 40 ปีมีผลผลิตชีวมวล 126 ตันคาร์บอนต่อเฮกแตร์ และภายใต้การจัดการที่เหมาะสม ไผ่จะให้ผลผลิตเซลลูโลสต่อหน่วยเนื้อที่สูงกว่าไม้สน 3-6 เท่า 

           นอกจากนี้ ไผ่ยังเป็นไม้เบิกนำที่สามารถขึ้นได้บนพื้นที่ว่างเปล่า จึงสามารถช่วยปรับปรุงสภาพของระบบนิเวศน์ ในบริเวณป่าเสื่อมโทรมได้ในระยะเวลาอันสั้น จากระบบรากที่แผ่กว้าง และความหนาแน่นของเรือนยอด ทำให้ไผ่มีประสิทธิภาพสูงในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ช่วยป้องกันการชะล้างและการกัดเซาะพังทลายของหน้าดินได้ดี โดยเฉพาะบริเวณริมร่องเขา คลองหรือริมตลิ่ง และยังช่วยปรับปรุงคุณภาพของดินให้ดีขึ้น  อันเป็นที่มาของชื่อ  “ดินขุยไผ่”

           ปัจจุบัน เส้นใยจากไผ่เป็นวัตถุดิบที่เป็นที่ต้องการสูงในอุตสาหกรรมสิ่งทอ  เนื่องจากเส้นใยไผ่นั้น มีคุณสมบัติพิเศษที่เหมาะกับการนำมาถักทอเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มระดับคุณภาพ มีความนุ่มเหมือนไหม ทนทาน ยืดหยุ่น  โปร่ง และซึมซับความชื้นได้มากกว่าผ้าฝ้าย ทำให้สวมใส่สบาย สามารถดูดซับรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต (UV)   ป้องกันเชื้อแบคทีเรียได้ดี และที่สำคัญมีสารกำจัดกลิ่นอยู่ในตัว ทำให้เสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยไผ่ไม่ค่อยมีกลิ่นเหม็น

           ส่วนประโยชน์ด้านไม้ก่อสร้างหรือเฟอร์นิเจอร์นั้น ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้การป้องกันมอดอย่างได้ผล ทำให้มีการใช้ประโยชน์ด้านไม้ก่อสร้างมากขึ้น



วิธีปลูกไผ่ตงลืมแล้ง


           ไผ่ตงลืมแล้งเจริญเติบโตได้ดีกับดินทุกประเภท ไม่ว่าจะอยู่ภาคไหนของประเทศไทยก็สามารถปลูกไผ่ตงลืมแล้งได้ทั้งนั้น การขยายพันธุ์ไผ่ตงลืมแล้งใช้ลำต้น แรกเริ่มให้เกษตรกรซื้อต้นไผ่ตงลืมแล้งมาปลูก ต้นทุนครั้งแรกอยู่ที่ประมาณ 50 บาทต่อต้น ซึ่งถือว่าค่อนข้างจะแพงเมื่อเทียบกับไผ่ชนิดอื่น ให้เกษตรกรซื้อมาแต่น้อย เพราะไผ่ตงลืมแล้งเจริญเติบโตเร็ว เราสามารถขยายพันธุ์ได้เอง โดยการตัดปักชำกิ่งไผ่ เมื่อเวลาผ่านไป 6-8 เดือนต้นไผ่พันธุ์ที่ซื้อมาจะเริ่มแตกให้เราตัดกิ่งไผ่ที่มีลักษณะไม่อ่อนไม่แก่ มาปักชำ ซึ่งถ้าเราจะขายกิ่งปักชำเหล่านี้ก็ย่อมได้ มีตลาดรับซื้อ และกำลังเป็นที่ต้องการของเกษตรกร บางคนก็มุ่งเป้าขายกิ่งพันธุ์อย่างเดียวเลย เพราะกำลังเป็นกระแส ใคร ๆ ก็อยากปลูก ปักชำ 2-3 เดือนก็ออกราก จำหน่ายได้แล้ว ต้นพันธุ์ 1 ต้นสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้เป็นร้อย มีแต่คุ้มกับคุ้ม



กล้าไผ่ตงลืมแล้งสวนไผ่อริยะ
กล้าไผ่ตงลืมแล้งสวนไผ่อริยะ



วิธีการเตรียมปลูกและการดูแล


           1. ไผ่ชอบดินร่วนซุย ดินโปร่งและร่วนซุยจะทำให้รากเจริญเติบโตดี ไผ่ตงลืมแล้ง จะตั้งกอเร็ว เจริญเติบโตได้เต็มที่ ถ้าที่ดินของท่านเป็นดินแข็งแน่น ให้ไถกลบด้วยเศษใบไม้แห้งจะทำให้ดินร่วนซุยมากยิ่งขึ้น ช่วงเวลาเตรียมดินต้องมีเวลาให้ใบไม้ย่อยสลายสัก 1 เดือน แล้วจึงขุดหลุมปลูก หลุมปลูกเว้นระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 1 เมตร หลุมลึกประมาณ 0.5 เมตร

           2. ไผ่ตงลืมแล้ง ไม่ต้องการน้ำมาก ช่วงแรกที่ปลูกให้น้ำ 1 วันครั้ง เมื่อรากลงดินและเริ่มแตกหน่อให้ลดเหลือสัปดาห์ละ 1 ครั้ง

           3. เมื่อผ่านไปประมาณ 6 เดือนสามารถเก็บหน่อได้ ให้เก็บหน่อก่อนหน่อมีความยาว 40 เซนติเมตร เพราะถ้าเก็บหลังจากนี้หน่อไผ่ตงลืมแล้งจะแข็ง มีเสี้ยน ราคาจะตกลง ในระหว่างนี้อย่าให้หน่อเจริญเติบโตเป็นลำไผ่เป็นอันขาด เพราะมันจะไปแย่งอาหารหน่อไม้จนหมด ทำให้หน่อไม้แกนไม่มีรสหวาน ให้ปล่อยไว้เพียง 2-3 ลำเท่านั้นพอ



หน่อไผ่ตงลืมแล้งที่ตัดได้
หน่อไผ่ตงลืมแล้งที่ตัดได้



ด้านการอนุรักษ์ดิน และน้ำ


            ไผ่ตงลืมแล้งสามารถอุ้มน้ำและความชื้นไว้ได้มากกว่าป่าธรรมชาติถึง 2 เท่าส่วนการใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น ถ่านไม้ไผ่คุณภาพสูงที่ได้จากการเผาที่อุณหภูมิ 1,000 องศาเซลเซียส ขึ้นไป ความสามารถสูงในการดูดซับกลิ่น ความชื้น สารพิษ สารเคมีช่วยฟอกอากาศ กำจัดแบคทีเรีย ช่วยปลดปล่อยประจุลบ และ อินฟราเรดคลื่นยาว ช่วยดูดซับรังสี ช่วยให้ระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้น มีผลให้จิตใจแจ่มใส เบิกบาน ผงคาร์บอนที่ผลิตได้จากถ่านไม้ไผ่เมื่อนำมาผสมกับดิน นอกจากจะช่วยปรับปรุงบำรุงดินแล้ว ยังมีความสามารถในการดูดซับไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่ไปทำลายชั้นโอโซนที่เป็นเกราะป้องกันรังสีอุลตร้า-ไวโอเล็ตของโลกมากที่สุดอีกด้วย นอกจากนี้ถ่านไม้ไผ่ยังถูกนำมาใช้เป็นองค์ประกอบในอุตสาหกรรมต่างๆอีกมากมาย เช่น อุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง ใช้ทำไส้กรองน้ำ ไส้กรองอากาศ  ใช้ปรับปรุงบำรุงดิน และใช้ในการบำบัดน้ำเสีย  เป็นต้น




ด้านพลังงาน


           มีการวิจัยในต่างประเทศพบว่า ไผ่เป็นพืชที่มีศักยภาพสูงในด้านพลังงาน โดยสามารถนำมาผลิตเชื้อเพลิงอัดเม็ดที่มีค่าพลังงานความร้อนสูงมากมีการใช้แพร่หลายในประเทศที่มีโอกาสหนาวตลอดทั้งปี และมีการใช้ไผ่เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันดีเซลด้วยเทคโนโลยี Fast Pyrolysis แม้ว่ายังไม่แพร่หลายและยังไม่มีการผลิต

ข้อมูลดีดีจาก มูลนิธิสร้างสุขชุมชน




ทนัญชัย อริยเกศมงคล
สวนไผ่อริยะ@ระยอง
Line : tapootom
Tel : 086-3572098
https://www.facebook.com/ariyabamboo
http://ไผ่ตงลืมแล้ง.blogspot.com
E-mail : tapoo.tom@gmail.com